ซีเรียส.. เรื่องความเบื่อหน่ายชีวิต
จากการที่ผมได้เห็นการตอบคำถามบนเว็บบอร์ดของคุณหมอ จึงคิดว่าคุณหมอน่าจะพอช่วยผมได้ ผมมีปัญหาคือความเบื่อหน่าย หรืออาจจะเป็น depression ไม่อยากทำงาน เรื่องที่เคยสนุกก็กลายเป็นน่าเบื่อ ตัวเองเคยเป็นคนพูดอะไรแล้วตลกคนหัวเราะก็กลายเป็นคนพูดอะไรอย่างเสียไม่ได้ พูดออกไปแล้วเหมือนไม่ใช่ตัวเองพูด ทำอะไรก็เหนื่อยไปหมด แม้กระทั่งเรื่องเซ็กซ์ ผมต้องการคำตอบที่ซีเรียสและลึกซึ้งนะครับ
ตอบ
ผมขอตอบคำถามของคุณบนพื้นฐานของข้อมูลที่คุณให้มานะครับ โดยคาดว่าคุณอาจจะเป็นอะไรสักอย่างในข้อวินิจฉัยแยกโรคต่อไปนี้ คือ
1. เป็นความเซ็งธรรมดา หมายความว่าตามหาความสุขแต่หาไม่เจอ
2. วิกฤติการณ์ครึ่งชีวิต หรือ midlife crisis
3. โรคซึมเศร้า
4. ภาวะหน่ายสังสารวัฏฏ์ ทนความไร้ความหมายของชีวิตไม่ได้
กรณีที่ 1 เป็นความเซ็งธรรมดา จากงานวิจัยทางการแพทย์สรุปว่า ปัจจัยที่สัมพันธ์กับความสุขคือ
- การได้ใช้ชีวิตอย่างมีความหมายตามความเชื่อในศาสนาของตน
- การมีเพื่อนซี้ หรือได้แต่งงานกับคนที่รู้ใจ บางงานวิจัยพบว่าถ้ามีเพื่อนที่สุขง่ายหัวเราะง่าย เราก็จะสุขง่ายไปด้วย หรือการได้อยู่กับคนที่เรามีความพึงพอใจต่อลักษณะนิสัยบางอย่าง เป็นสาเหตุที่แท้จริงของความสุขที่ถูกซ่อนอยู่
- การได้ง่วนทำอะไร ยิ่งเป็นอะไรที่ใด้ใช้ความรู้และทักษะของตัวเองเต็มที่ด้วยยิ่งสุขมาก และการได้ง่วนกับอะไรที่ง่ายๆ ราคาถูกๆ มีความสุขมากกว่าการเล่นของยากๆ ราคาแพงๆ
ส่วนปัจจัยที่ไม่สัมพันธ์กับความสุข แทบทุกงานวิจัยล้วนได้ผลตรงกันคือ
- การมีรายได้มากขึ้นหรือความร่ำรวย
- การมีความรู้สูง
- การเป็นคนฉลาดมีไอคิวสูง
- วัย
- เชื้อชาติ
- เพศ
- การมีลูกหรือไม่มี
กรณีที่ 2. midlife crisis คืออาการที่เป็นกับคนอายุกลางคน คือประมาณ 40 ปี (ช่วงอายุ 30-50 ปี) เกิดความรู้สึกเปลี่ยนแปลงไปจากความรู้สึกดีๆ ที่เคยมี เป็นความรู้สึกไม่พึงพอใจกับชีวิตหรือวิถีชีวิต เบื่อคน หรือสิ่งเร้าใดๆ ที่เคยท้าทายตนเองเป็นอย่างดีในอดีต และสับสนว่าตัวเราเองนี่เป็นใคร และกำลังจะไปไหนกัน ถ้าเป็นกรณีนี้คำแนะนำคือให้คุณทำร่องรอยไปตามระยะทั้ง 5 ที่คาร์ล จุง จิตแพทย์ชาวสวิสแบ่งไว้ คือ
- ระยะทำตัวให้กลมกลืน (accommodation) (ก่อนอายุ 30-50 ปี) เป็นระยะที่คนเราทำตัวให้เป็นที่ยอมรับ บางครั้งอาจต้องใส่หัวโขนพรางตัวตนที่แท้จริงของเราไว้บ้าง ซึ่งถ้าหัวโขนนั้นแตกต่างจากตัวตนที่แท้จริงมาก การปรับตัวสู้กับวิกฤติครึ่งชีวิตก็จะหนักไปด้วย
- ระยะถอดหัวโขน (separation) เป็นช่วงเวลาที่เริ่มตั้งคำถามกับตัวเอง ว่า ตัวตนที่แท้จริงของเราเป็นอย่างไร มันเหมือนหัวโขนนี่หรือเปล่า
- ระยะเคว้งคว้าง (liminality) ตัวตนเก่าก็ไม่เอา ตัวตนใหม่ก็ยังหาไม่เจอ ชักไม่แน่ใจว่าตัวเองเป็นใคร จะไปทางไหน กลัวที่จะต้องตัดสินใจ
- ระยะสร้างตัวตนใหม่ที่ตัวเองยอมรับได้ขึ้นมา (reintegration) ค้นพบตัวตนใหม่ที่กลมกลืนกับชีวิตจริง รับได้ชัดขึ้นว่าตัวเองเป็นใคร จะไปทางไหน และประเมินตัวเองใหม่เป็นระยะ
- ระยะหันหน้าสู้ความจริงและยอมรับด้านที่ไม่ค่อยเข้าท่าที่ยังอาจมีอยู่ในตัวตน (individuation) ยอมรับว่า ชีวิตจริงมันก็ต้องแสดงกันบ้าง ยอมรับวิธีประสานความคาดหวังของคนรอบข้างให้เข้ากับความต้องการของตนเอง
กรณีที่ 3. โรคซึมเศร้า ซึ่งตามหลักวิชาแพทย์จะใช้ยาแก้ซึมเศร้าในการรักษา แต่ในกรณีของคุณนี้ผมแนะนำให้ทำหลายๆอย่างโดยไม่ใช้ยาก่อนครับ ได้แก่
- ฝึกให้ร่างกายตอบสนองต่อความผ่อนคลาย (relaxation response) อย่างสม่ำเสมอทุกวัน เช่น นั่งสมาธิ หรือโยคะ เป็นต้น
- ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปสู่แนวส่งเสริมสุขภาพ ได้แก่ การออกกำลังกายทุกวัน (อย่างน้อยวันละ 30 นาที) นอนหลับและพักผ่อนให้เพียงพอ ลด ละ เลิกสารกระตุ้นต่างๆ เช่น บุหรี่ แอลกอฮอล์ หรือแม้กระทั่งน้ำตาล
- การหัวเราะ และการทำตัวเป็นคนมีอารมณ์ขันอยู่เสมอ หรือพยายามใกล้ชิดกับคนที่หัวเราะเก่ง
- ตากแดดบ้าง เนื่องจากแสงแดดแก้ภาวะซึมเศร้าได้
- เปลี่ยนกรอบความคิดไปสู่การคิดบวก คบหากับคนที่คิดบวก
- หันไปทำเรื่องที่ทำให้เกิดความบันเทิงใจบ้าง เช่น หาเวลาไปเดินเล่น ฟังดนตรี หรือดูหนังตลก เป็นต้น
กรณีที่ 4. ภาวะหน่ายสังสารวัฏฏ์ เรื่องนี้ไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์รองรับว่าจะแก้ได้อย่างไร ผมแนะนำว่าต้องเข้าใจลึกซึ้งถึงใจของตัวเอง โดยกิจกรรมดังกล่าวมีอยู่ 4 อย่างเท่านั้น คือ รับรู้สิ่งเร้า (perception) คิด (think) รู้สึก (feel) และสังเกตใจตัวเอง (observe)
โดยลักษณะการเกิดขึ้น 2 ประการ ของกิจกรรมในใจของเราทั้ง 4 อย่างนี้ คือ
1. เป็นการเกิดแล้วหยุดแค่เพียงแวบเดียว แต่อาจเกิดขึ้นใหม่อย่างต่อเนื่องต่อๆ กันเป็นแบบแวบ แวบ แวบ เหมือนกรณีที่เราคิดอะไรซ้ำซาก วกวนไม่รู้จบ
2. กิจกรรมเหล่านี้ สามารถเกิดขึ้นได้ทีละกิจกรรมเท่านั้น
หากมองย้อนไปในอดีตของเราแล้ว ทุกอย่างที่ทำให้เราเศร้า ไม่มีความสุข ดูเผินๆ เหมือนมันมาจากภายนอก ในรูปของสิ่งเร้าต่างๆ ที่เรารับเข้ามา แต่ถ้ามองให้ลึกแล้ว สิ่งที่ทำให้เราเศร้า หรือไม่มีความสุข แท้จริงแล้วมีอยู่สองตัวเท่านั้นเอง คือ ความคิดและความรู้สึก ที่ถูกสร้างให้เกิดขึ้นในใจของเรา ซึ่งเราอาจรู้สึกเหมือนว่าเราไม่อาจจะไปหยุดยั้งมันได้ เมื่อมันจะเกิดก็ต้องปล่อยให้มันเกิด และก็ต้องทนอยู่กับมัน แต่ในความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นความคิด หรือความรู้สึก เช่น ความเศร้า ความเหงา ความรู้สึกไร้ค่า ล้วนเป็นแค่กิจกรรมอย่างหนึ่งของใจเรา ซึ่งเกิดขึ้นเป็นแวบ แวบหนึ่งแล้วก็หยุด แต่ที่ดูเหมือนว่ามันครองใจเราไว้ได้ตลอดเวลาก็เพราะมันเกิดต่อๆ กันเป็นแบบแวบ แวบ แวบ แต่หากพิจารณาประกอบความจริงที่ว่ากิจกรรมของใจเรานี้มีได้ทีละอย่างเดียว ถ้ามีกิจกรรมอย่างอื่นแวบเข้ามาแทรกในใจของเรา ก็จะตัดตอนความคิดหรือความรู้สึกเดิมในใจของเราได้ และถ้ากิจกรรมอย่างอื่นนั้นแทรกเข้ามาถี่ๆ แบบแวบ แวบ แวบ ความคิดหรือความรู้สึกที่ทำให้เราเศร้า กลัดกลุ้มไม่มีความสุขนั้นก็จะเกิดไม่ได้
เมื่อต้นเหตุของความเครียดเกิดขึ้นในใจเราไม่ได้ ความเครียดหรือความเศร้าก็จะหมดไป โดยสิ่งที่เข้ามาแทรกเพื่อยุติความคิดและความรู้สึกได้ชะงัด ก็คือการสังเกตใจเรานั่นเอง ซึ่งหมายถึงการที่เราสามารถระลึกได้ (recall) ว่าเมื่อตะกี้ใจเราคิดอะไร หรือมีความรู้สึกอะไร แล้วตามด้วยความรู้สึกตัว (awareness) ว่า ณ ขณะที่เรากำลังสังเกตใจเราอยู่นี้เรารู้ตัวอยู่ไม่ได้เผลอไผลใจลอยไปไหน โดยที่หากเราหัดฝึกสังเกตใจตนเองบ่อยๆ จนคล่อง เราจะสามารถสังเกตใจตัวเองได้เนืองๆ จนความคิดความรู้สึกไม่ดีทั้งหลายไม่สามารถเข้ามาครองใจเราได้ นั่นก็คือ..หายเศร้าได้