DESKTOP

By:

TABLET

By:

MOBILE

By:
Logo-MegaWeCare

การรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังด้วยอาหารพืชเป็นหลัก (plant-based whole food low fat diet)

22 พฤศจิกายน 2022

139

บทบาทของอาหารพืชเป็นหลัก (Plant-based whole food) ในโรคเรื้อรัง

จำนวนผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ตามรูปแบบการรับประทานอาหารและการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปของผู้คนในสังคม ปัจจัยเสี่ยงที่พบบ่อยสำหรับโรคเรื้อรังเหล่านี้คือ อาหารและพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ กลไกของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังโดยสรุป จากประเด็นด้านอาหาร ได้แก่ 

  • การรับประทานผักผลไม้ที่น้อยเกินไป หรือกากใยอาหารน้อย ส่งผลให้ร่างกายขาดความหลากหลายของจุลชีพในลำไส้ (gut microbiome)
  • การได้รับปริมาณพลังงาน (แคลอรี่) มากเกินไปส่งผลให้เกิดภาวะอ้วนและภาวะดื้อต่ออินซูลิน
  • การมีสารต้านอนุมูลอิสระเกิดขึ้นในร่างกายเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลให้เกิดปฏิกริยา oxidation กับไขมันเลว (LDL-chol) ก่อให้เกิดการอักเสบในชั้นผนังหลอดเลือด และลดการทำงานของกลไกของผนังหลอดเลือด (endothelial dysfunction)
  • การได้รับโซเดียมในปริมาณสูงเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง

แนวทางการปรับเปลี่ยนอาหาร เพื่อรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังทั้งหมด สามารถทำได้ง่ายๆดังนี้

  1. ปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหาร โดยเน้นรูปแบบการรับประทานอาหารมากกว่าการระบุชนิดของอาหาร เพิ่มการรับประทานพืชให้หลากหลาย คำแนะนำคือควรเพิ่มปริมาณผักและผลไม้ให้ได้อย่างน้อยวันละ 8-10 เสิร์ฟ ตามคำแนะนำของรูปแบบการรับประทานอาหารแดชไดเอ็ท (Dietary Approach to Stop Hypertension; DASH)
  2. ลดการบริโภคเนื้อสัตว์กลุ่มเนื้อสัตว์แปรรูป และเนื้อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งเป็นอาหารก่อมะเร็ง 
  3. ลดการบริโภคไขมันอิ่มตัว ซึ่งพบได้ในกลุ่มผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เนื้อสัตว์ทุกชนิด รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น นมวัว ไข่ไก่ เป็นต้น เปลี่ยนไปเป็นการบริโภคไขมันไม่อิ่มตัวจากธรรมชาติ (Intrinsic fat) เช่น อาโวคาโด ถั่ว งา นัท เป็นต้น
  4. ลดการบริโภคโซเดียมในรูปแบบต่างๆ ไม่เกิน 2,000 มก. ของโซเดียม ซึ่งโซเดียมอาจแฝงมาในรูปแบบต่างๆ เช่น ผงฟู (Sodium bicarbonate) สารกันบูด (Sodium benzoate) ผงชูรส (monosodium glutamate) แนะนำให้รับประทานอาหารในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติโดยไม่ต้องปรุงรสเพิ่ม
  5. ลดการบริโภคน้ำตาล ทั้งในรูปแบบของน้ำตาลขัดสี และผลิตภัณฑ์สะกัดซึ่งไม่มีกากใย รวมทั้งเครื่องดื่มผสมน้ำตาลและสารเพิ่มความหวาน
  6. เพิ่มความหลากหลายของจุลชีพในลำไส้ ด้วยการรับประทานอาหารทั้งกลุ่มโพรไบโอติกส์ และพรีไบโอติกส์ เช่น อาหารกากใย ผักผลไม้ หรืออาหารกลุ่มหมักดอง เช่น ถั่วเทมเป้ กิมจิ มิโสะ เซาเคราท์ คีเฟอร์ โยเกิร์ตจากถั่วเหลือง เป็นต้น รวมทั้งการรับประทานอาหารสีม่วงแดงจากธรรมชาติ เช่น แอปเปิ้ล มะเขือเทศ มันม่วง ที่มีสาร Polyphenol ซึ่งจะเป็นอาหารเลี้ยงจุลชีพในลำไส้ของคนเรา ช่วยเพิ่มความหลากหลายของจุลชีพในลำไส้ได้ (Gut microbiome)

 

 

อาหารจากพืชในโรคเบาหวาน:

ข้อมูลจากการทำงานวิจัยเปรียบเทียบอาหารในผู้ป่วยสองกลุ่มพบว่า กลุ่มที่รับประทานอาหารมังสวิรัติไขมันต่ำ หรืออาหารพืชเป็นหลัก สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้มากกว่ากลุ่มที่รับประทานอาหารแบบมีเนื้อสัตว์ รวมทั้งสามารถลดการใช้ยาลงได้มากกว่า รวมทั้งการลดระดับไขมันในเลือดได้ด้วย ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับข้อมูลงานวิจัยระดับระบาดวิทยาที่ชื่อว่า EPIC study พบว่าอาหารที่มีความสัมพันธ์กับการเป็นโรคเบาหวาน คืออาหารกลุ่มเนื้อสัตว์โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (Red meat)

สาเหตุหลักของการเป็นโรคเบาหวานประเภทที่สอง มีหลากหลายกลไก แต่กลไกที่เกี่ยวข้องกับอาหาร เท่าที่มีข้อมูลในปัจจุบันพบว่า การเป็นโรคเบาหวานประเภทที่สองมีความสัมพันธ์กับการดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งมาจากสองสาเหตุหลัก ได้แก่ การที่ร่างกายได้รับแคลอรี่ที่มากเกินไปจนเกิดการสะสม และการได้รับอาหารประเภทไขมันมากเกินไป อาหารพืชเป็นหลักจะเป็นอาหารประเภทที่มีพลังงานต่ำ แต่มีคุณค่าทางอาหารสูง สามารถช่วยลดการดื้อต่ออินซูลินได้ รวมทั้งมีไขมันต่ำ ซึ่งงานวิจัยพบว่าหากผู้ที่มีน้ำหนักเกิน สามารถลดน้ำหนักลงมาได้จนอยู่ในเกณฑ์ปกติ จะทำให้โรคเบาหวานดีขึ้นได้เช่นกัน 

ดังนั้นการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตโดยเน้นที่พฤติกรรมการบริโภคอาหาร จึงเป็นเรื่องสำคัญ และประโยชน์ในการป้องกันรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 2 1

 

อาหารจากพืช (Plant-based whole food) ในโรคหลอดเลือดหัวใจ (CAD):

โรคหัวใจเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตทั่วโลก การศึกษาวิจัยชี้ให้เห็นว่าสาเหตุที่แท้จริง คือพฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งหากได้รับการแก้ไขตรงเวลาสามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้ทั่วโลก 2

จากการศึกษาของสมาคมโรคหัวใจแห่งประเทศอเมริกา และสถาบันศึกษาและวิจัยโรคมะเร็งประเทศอเมริกาพบว่า รูปแบบการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ได้แก่ การรับประทานผักและผลไม้ให้ได้อย่างน้อยวันละ 5 เสิร์ฟ ลดการบริโภคเนื้อสัตว์แปรรูป สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งหากอธิบายให้เห็นภาพง่ายๆ ได้แก่ ในหนึ่งจานอาหาร ขอให้มีครึ่งหนึ่งเป็นอาหารประเภทผักและผลไม้หลากสี หลากชนิด รวมทั้งอีกหนึ่งส่วนสี่เป็นโปรตีนคุณภาพดี และอีกหนึ่งส่วนสี่ที่เหลือเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าวกล้อง ธัญพืชไม่จัดสี โฮลวีท โฮลเกรน ควินัว เป็นตัน อาหารจากพืชมีส่วนในการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (CAD) อาหารจากพืชสามารถเพิ่มปัจจัยป้องกันเยื่อบุผนังหลอดเลือดและลดปัจจัยที่ทำลายเซลล์บุผนังหลอดเลือดได้ 3

ที่มา

  1. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5466941/ 

Michelle McMacken and Sapana Shah. A plant-based diet for the prevention and treatment of type 2 diabetes. J Geriatr Cardiol. 2017 May; 14(5): 342–354

  1. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5466942/

Julieanna Hever and Raymond J Cronise. Plant-based nutrition for healthcare professionals: implementing diet as a primary modality in the prevention and treatment of chronic disease. J Geriatr Cardiol. 2017 May; 14(5): 355–368.

  1. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4315380/

Phillip Tuso, MD, FACP, FASN. A Plant-Based Diet, Atherogenesis, and Coronary Artery Disease Prevention. Perm J. 2015 Winter; 19(1): 62–67.

  1. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5409713/ 

Anna Gluba-Brzózka, Beata Franczyk, and Jacek Rysz . Vegetarian Diet in Chronic Kidney Disease—A Friend or Foe. Nutrients. 2017 Apr; 9(4): 374.

* บทความนี้เป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว หากมีข้อผิดพลาดประการใดทางบริษัทไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง